ประวัติความเป็นมา

                  เนื่องจากเมืองเวียงสระไม่มีคนพื้นเมืองดั้งเดิมอาศัยอยู่ ดังนั้นการ ตั้งเมืองจึงต้องอาศัยคนอพยพ
จากภายนอกเข้ามา กลุ่มคนรุ่นแรกที่อพยพเข้ามาน่าจะเป็นชาวอินเดีย ซึ่งมาแสวงโชคลาภด้วยการชี้นำของคัมภีร์ มหานิเทศ และเกิดการร่ำลือว่าดินแดนแถบตะวันออกมีความอุดมสมบูรณ์ เต็มไปด้วยทองคำ น้ำท่าก็บริบูรณ์ ดังนั้นเมืองต่างๆ ที่อยู่ในดินแดนแถบนี้ไม่ว่าจะเป็นไชยา พุนพิน หรือเวียงสระ จะมีร่องรอยของผู้คนที่นับถือศาสนาฮินดูปรากฏอยู่ทั่วไป และเป็นชุมชนที่ก่อตั้งมาจากสถานีการค้าและเมืองท่าการค้า
                   มีเรื่องเล่าสืบกันต่างๆ มา (เป็นตำนานของพระเทพรัตนกวีซึ่งอ้างว่าได้มาจากสมุดข่อย) ถึงการตั้ง เมืองเวียงสระมีพราหณ์พี่น้องสองคน คือพราหณ์โมลีพี่และพราหณ์มาลาผู้น้อง ได้นำไพร่พลมา 30,000 คน จากอินเดียพร้อมด้วยอาจารย์ 2 ท่าน คือ พระพุทธธัมเถียร และพระพุทธสาคร เพื่อมาตั้งอาณาจักรอย่างอินเดีย และค้นหาพระ -บรมธาตุซึ่งตามคัมภีร์ของลังกาว่าอยู่ที่หาดทรายแก้วมาเห็นเมืองเวียงสระ ซึ่งเดิมคงเป็นสถานีการค้าว่าเป็นเมืองที่มีชัยภูมิดีจึงได้สร้างบ้านแปลงเมืองขึ้นมาเป็นเมืองใหญ่ ขุดคูเป็นปราการรอบเมืองโดยมีลำน้ำใหญ่สองสายเป็นคูเมืองอยู่แล้ว และสถาปนาพราหณ์ผู้พี่เป็นเจ้าเมืองตั้งชื่อว่า "พระเจ้าศรีธรรมโศกราช"
ต่อมาเมื่อเกิดไข้ห่าระบาดจึงได้อพยพผู้คนไปจนกระทั่งถึง หาดทรายแก้ว แล้วได้สร้างบ้านแปลงเมืองอีกแห่ง ต่อมากลายเป็นเมืองสำคัญของไทยซึ่งก็คือเมืองนครศรีธรรมราช
                   คำบอกเล่าดังกล่าวเมื่อตรวจสอบกับตำนานเมืองนครศรีธรรมราชและตำนานพระธาตุเมืองนครศรี
ธรรมราช
ก็ไม่ปรากฏชื่อบุคคลและเรื่องราวดังกล่าวแต่อย่างใด คงมีแต่ชื่อพระพุทธคำเพียรซึ่งอยู่ที่ลังกาได้เกิดวิวาทกันกับเพื่อนสงฆ์ด้วยกัน เจ้าเมืองลังกาประนีประนอมไม่สำเร็จเนื่องจากเป็นพระผู้ใหญ่ก็นิมนต์ออกจากเมือง พระพุทธคำเพียรก็ลงเรือสำเภาพร้อมด้วยบริวารขึ้นที่นครศรีธรรมราช ซึ่งมีพระยาศรีธรรมราชโศกราชครองเมืองอยู่ แล้วได้มีการสร้างเมืองนครศรีธรรมราชที่หาดทรายแก้วในปีศักราช 1097 ทำอิฐทำปูนก่อพระธาตุขึ้นซึ่งก็ได้มีการก่อสร้างเพิ่มเติบหลายครั้งหลายหนจนกลายเป็นพระบรมธาตุอันเป็นเจดีย์สำคัญ
ของภาคใต้ในปัจจุบัน

                   ตามรูปลักษณ์ของตัวเมืองเวียงสระเก่า จะเห็นได้ว่าเป็นเมืองใหญ่ คงจะมีประชากรพอสมควร แต่คงจะยืนยงอยู่ได้ไม่นานนักเพราะปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีไม่มากนัก ผิดกับเมืองไชยา ความล่มสลายของเมืองที่ปรากฏในตำนานต่างๆ มักจะเป็นเพราะโรคไข้ห่าระบาดซึ่งคงจะมีบ้างแต่ร้างอยู่ไม่นานจะบูรณะเป็นเมืองต่อไปเมื่อไข้สงบลง แต่ที่ปรากฏในประวัติศาสตร์มักจะเป็นเพราะถูกภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท้วม หรือมิฉะนั้นก็ถูกกองทัพต่างชาติเข้าเผาทำลายดังเช่นในปี พ.ศ. 1568 พระเจ้าราเชนทร์กษัตริย์ชาวโจฬะแห่งเมืองตันชอร์ อินเดียภาคใต้ได้ยกกองทัพมาตีเมืองต่างๆ ในอาณาจักรศรีวิชัยแตกไม่ว่าจะเป็นไชยา นครศรีธรรมราช พุนพิน หรือเวียงสระ แต่ไชยาและนครศรีธรรมราช มีผู้คนอยู่มากจึงได้มีการสร้างเมืองใหม่ขึ้นอีก แต่ที่เวียงสระและพุนพินเป็นเมืองที่เล็กกว่าผู้คนน้อยกว่า เมืองก็กลายเป็นเมืองร้างมายาวนาน

หน้าถัดไป

 
 
   
 
Free Web Hosting